นพ. ธันวัน เจริญไชยเนาว์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

21 มีนาคม 2023

ADHD in Adult

นพ. ธันวัน เจริญไชยเนาว์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

21 มีนาคม 2023

นัดหมาย

ADHD in adults • เพราะอะไรสามีถึงไม่เป็นระเบียบเลย ลืมโน่นลืมนี่ วางของทิ้งไว้บ่อยๆ เวลาให้ไปซื้อของก็ไม่เคยซื้อมาครบตามที่สั่ง • แฟนหงุดหงิดง่ายมาก ไม่อดทน ชอบทำอะไรหุนหันพลันแล่นตลอด ไม่คิดหน้าคิดหลัง เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ • ลูกน้องทำงานไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่วางแผนการทำงานอะไรเลย ต้องคอยเตือนตลอด ​ปัญหาพฤติกรรมที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นอาจเป็นอาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ถึงแม้ภาพที่คนส่วนมากคุ้นชินกับโรคสมาธิสั้น จะเป็นภาพของเด็กที่ซุกซน วิ่งไปทั่ว จนทำให้ถูกผู้ใหญ่ดุบ่อยครั้ง แต่ทว่าเมื่อเด็กกลุ่มนี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อาการซนอยู่ไม่นิ่งจะค่อยๆลดลง แต่อาการหลักของโรคสมาธิสั้นที่ยังคงเหลืออยู่ในวัยผู้ใหญ่คือ 1. ปัญหาในการคงสมาธิ (inattention) ซึ่งอาจแสดงออกมาเป็น ความไม่มีระเบียบ จดจ่อกับอะไรนานๆไม่ได้ วอกแวกง่าย ขี้ลืม ไม่รับผิดชอบต่องาน 2. ความหุนหันพลันแล่น (impulsivity) แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ไม่คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ มีประวัติเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ หงุดหงิดง่าย ระเบิดอารมณ์เป็นช่วงๆ ​นอกจากนี้อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่อาจแสดงเป็น ความรู้สึกอึดอัดเวลาที่ต้องอยู่นิ่งๆ รู้สึกอยู่ไม่สุขกระสับกระส่าย อดทนรอคอยได้ยาก เบื่อง่าย ต้องการสิ่งใหม่ๆมากระตุ้นตัวเอง หรือขาดการคิดทบทวนให้ถี่ถ้วน ​ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ใหญ่กลุ่มนี้เกิดความยากลำบากในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิและต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการคงสมาธิเพื่อควบคุมตัวเองให้ทำงานได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือในสังคม ผู้ใหญ่กลุ่มนี้จึงมักจะถูกเข้าใจผิดจากพฤติกรรมที่คนภายนอกเห็นและอาจถูกตีตราว่าเป็นคนขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ ไม่ตั้งใจ บางครั้งความหุนหันพลันแล่นส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น กระทบความรอบคอบในการทำงาน หรือขาดการยับยั้งชั่งใจ แสดงออกอารมณ์หรือพฤติกรรมทันทีโดยไม่ทันคิดทบทวน หรือแม้กระทั่งอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ผิดกฏหมาย ​โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม สามารถที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งในด้านความสัมพันธ์ การเรียน การทำงาน และความปลอดภัยในชีวิตดังที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ความเครียด ความกดดันรวมทั้งผลกระทบที่ผู้ใหญ่กลุ่มนี้ได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวชที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือปัญหาการใช้สารเสพติด จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ใหญ่ที่มีโรคสมาธิสั้นจำนวน 100 คนจะพบโรคร่วมทางจิตเวชอย่างน้อย 1 โรค เป็นจำนวน 75 คน นอกจากนั้นผลกระทบของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ยังอาจสะท้อนออกมาทางด้านสังคมด้วย ทั้งอัตราการว่างงานที่มากขึ้นในผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น การหยุดงานที่มากกว่าประชากรทั่วไป และโอกาสการเกิดอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของสังคมด้วยเช่นกัน ​จากการติดตามผู้ป่วยสมาธิสั้นตั้งแต่วัยเด็กพบว่า 60% ของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะยังคงมีอาการบางส่วนของโรคสมาธิสั้นต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะรบกวนการใช้ชีวิตมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละราย โดยเฉลี่ยแล้วเพียง 15% ของผู้ใหญ่กลุ่มนี้จะยังคงมีอาการเข้าเกณฑ์วินิจฉัย และประมาณ 50% ถึงแม้ว่าอาการจะไม่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยแล้วแต่ยังได้รับกระทบต่อการดำเนินชีวิตจากอาการสมาธิสั้นที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น ขี้หลงขี้ลืม ไม่เป็นระเบียบ เป็นต้น ​ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ ลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองดู 1. คุณมีปัญหาในการจดจ่อ ตั้งสมาธิ หรือทำตามแผนที่ตั้งใจไว้หรือไม่ 2. คุณมีปัญหาเรื่องสมาธิมานาน 10-20 ปีใช่หรือไม่ 3. ถ้าย้อนไปในวัยเด็ก ครูที่โรงเรียนจะบอกว่าคุณในห้องเรียนเป็นยังไง ​3 คำถามข้างต้นเป็นประวัติที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น เนื่องจากโรคสมาธิสั้นเป็นโรคพัฒนาการทางระบบประสาท (neurodevelopmental disorder) หมายความว่าผู้ป่วยจะมีอาการของโรคสมาธิสั้นมาตั้งแต่ในวัยเด็ก เช่น มีความยากลำบากในการเรียน ในการรับผิดชอบงานการบ้านต่างๆ มีปัญหาการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ยุกยิก อยู่ไม่สุข เป็นต้น แต่ถ้าหากคุณเพิ่งเริ่มมีปัญหาสมาธิเมื่อไม่นานมานี้ ไม่เคยมีอาการตั้งแต่เด็ก อาจมีโอกาสที่อาการสมาธิสั้นของคุณเป็นอาการแสดงของโรคอื่นๆมากกว่า เช่น โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น ​ปัจจัยที่ทำนายโอกาสการคงอยู่ของโรคสมาธิสั้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้แก่ การมีทั้งอาการสมาธิสั้นและหุนหันพลันแล่น (combined inattention and hyperactivity type), มีความรุนแรงของอาการมากในวัยเด็ก, การมีโรคร่วมได้แก่ โรคซึมเศร้า, การมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก และปัญหาพยาธิสภาพทางจิตใจของพ่อแม่ ​โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่เป็นโรคที่ให้การวินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากลักษณะของอาการที่ไม่เด่นชัดเท่ากับในเด็ก อาการของโรคที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถสังเกตหรืออธิบายอาการของตนเองได้อย่างชัดเจน ผู้ใหญ่ที่มีโรคสมาธิสั้นบางรายอาจมีวิธีจัดการกับปัญหาสมาธิของตนเองได้จึงทำให้อาการไม่เด่นชัด และโรคทางจิตเวชหลายโรคที่อาจมีอาการแสดงออกคล้ายสมาธิสั้น รวมทั้งข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่น ที่ทำงานที่มักเป็นสถานที่เกิดปัญหา จากคนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบทางอารมณ์ เป็นต้น ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาแบบคัดกรองโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาให้มากขึ้น โดยฉบับภาษาไทยมี แบบประเมิน Adult ADHD Self report Scale (ASRS) ซึ่งมีจำนวนข้อคำถาม 18 ข้อ อย่างไรก็ตามวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นยังคงต้องวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ​โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ โดยมีวิธีการรักษา ได้แก่ ​หนึ่ง การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดการตีตรา และเกิดความร่วมมือในการรักษา​ ​สอง การรับประทานยา ยาที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มยา psychostimulants ผู้ป่วยส่วนมากตอบสนองต่อยากลุ่มนี้ได้ดี ทั้งในการลดอาการหลักของสมาธิสั้น และลดปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ส่งผลให้ปัญหาด้านความสัมพันธ์อื่นๆซึ่งเป็นผลจากโรคสมาธิสั้นลดลงเช่นกัน นอกจากนี้จากการศึกษายังพบอีกว่า การใช้ยากลุ่ม psychostimulants ไม่เพิ่มโอกาสการติดสารเสพติดในกลุ่มกระตุ้นประสาท บางการศึกษายังพบว่าการได้รับยารักษาสมาธิสั้น ช่วยลดปัญหาการใช้สารเสพติด และลดโอกาสในการใช้สารเสพติดซ้ำ ในปัจจุบันมียาในรูปแบบออกฤทธิ์ยาว รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการรับประทานยามากขึ้น ​อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ที่มีปัญหาการทำงานของหัวใจ ปัญหา hyperthyroidism และผู้ที่เป็นต้อหิน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์หรือผู้ป่วยที่มีอาการจิตเภท ​ยาที่ได้รับการแนะนำในลำดับถัดมาได้แก่กลุ่ม non stimulants เช่น atomoxetine และยาอื่นๆ เช่น bupropion, clonidine เป็นต้น แต่หากมีโรคร่วมทางจิตเวชอื่นๆด้วย แนะนำให้รักษาโรคร่วมทางจิตเวชให้อาการดีขึ้นก่อน แล้วจึงค่อยประเมินและรักษาโรคสมาธิสั้นในภายหลัง เพื่อให้มั่นใจว่าอาการที่มีอยู่นั้นเกิดจากโรคสมาธิสั้นหรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ ​สาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งจะเน้นไปในการเพิ่มทักษะการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพิ่มทักษะการจัดการให้ดีขึ้น และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ โดยรักษาผ่านการทำบำบัดในการปรับความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT (Cognitive and behavioral therapy) ซึ่งจะพูดถึงในรายละเอียดในบทความอื่นต่อไป ​ถึงแม้ว่าโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆและยังเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะยิ่งได้รับการรักษาในช่วงที่ยังมีผลกระทบต่อชีวิตไม่มาก จะช่วยให้ผู้ใหญ่ที่มีโรคสมาธิสั้นสามารถใช้ชีวิตที่ราบรื่นและปกติสุขได้ นพ. ธันวัน เจริญไชยเนาว์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น Soul science : 30/8/67 หนังสืออ้างอิง 3. Boland, Robert. (2022). Kaplan & Sadock's synopsis of psychiatry : behavioral sciences/clinical psychiatry, 12th ed. (12). Philadelphia: Wolters Kluwer. 4. Kooij, S.J., Bejerot, S., Blackwell, A. et al. European consensus statement on diagnosis and treatment of adult ADHD: The European Network Adult ADHD. BMC Psychiatry 10, 67 (2010). https://doi.org/10.118 5. American Psychiatric Association. (2022). Diagnostic and statistical manual of mental disorders (5th ed., text rev.). https://doi.org/10.1176/appi.books.9780890425787 6. Choi W-S, Woo YS, Wang S-M, Lim HK, Bahk W-M (2022) The prevalence of psychiatric comorbidities in adult ADHD compared with non-ADHD populations: A systematic literature review. PLoS ONE 17(11): e0277175. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0277175 7. Katzman, M.A., Bilkey, T.S., Chokka, P.R. et al. Adult ADHD and comorbid disorders: clinical implications of a dimensional approach. BMC Psychiatry 17, 302 (2017). https://doi.org/10.1186/s12888-017-1463-3 8. Kiatrungrit K, Putthisri S, Hongsanguansri S, Wisajan P, Jullagate S. Validity and Reliability of Adult ADHD Self-Report Scale Thai Version (ASRS-V1.1 TH). Shanghai Arch Psychiatry. 2017 Aug 25;29(4):218-227. doi: 10.11919/j.issn.1002-0829.217021. PMID: 28955141; PMCID: PMC5608994.

บทความที่เกี่ยวข้อง

We use cookies on our website to provide the most relevant experience, remembering your preferences and repeated visits. By clicking "Accept", you agree to the use of ALL cookies.